Activities

Franchise and the economy and society

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแฟรนไชส์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประชาชน  ไม่ว่าจะเป็นการดื่ม การกิน การเข้าใช้บริการในธุรกิจหนึ่ง ๆ หรือการจับจ่ายซื้อสินค้า  ร้านค้าเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจแฟรนไชส์  แฟรนไชส์จึงมีผลกับกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19  ธุรกิจต้องหยุดชะงัก  เศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในภาวะหดตัว  ผู้คนตกงานเป็นจำนวนมาก  แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป 

หลายคนที่ไม่ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจก็มองหาธุรกิจแฟรนไชส์

เพราะเชื่อว่านี่จะทำให้เขาสามารถมีธุรกิจด้วยความเสี่ยงต่ำและเป็นธุรกิจที่มีอนาคต  ในช่วงเวลานั้น อัตราการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิ-19  บางคนก็เสี่ยงที่จะทำธุรกิจเอง ซึ่งก็มีทั้งที่ล้มเหลวและประสบความสำเร็จ  สำหรับธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ก็มีเหมือนกันที่พัฒนาธุรกิจนั้นให้เป็นธุรกิจแฟรนไชส์และก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวกับการเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ แม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะลดลง  ธุรกิจที่เหลืออยู่เริ่มค่อย ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ  การค้นหาหรือความคิดเกี่ยวกับการต้องการมีอาชีพเสริมก็ลดลงบ้าง  แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่มากกว่าก่อนเกิดโรคระบาด  เพราะเขามีประสบการณ์แล้วว่าอาจมีโอกาสตกงานได้ทุกเมื่อ

แฟรนไชส์เป็นรูปแบบหนึ่งของธุรกิจ (แฟรนไชส์ซอร์) ที่อนุญาตให้บุคคลหรือองค์กรหนึ่ง (แฟรนไชส์ซี) ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้น สามารถเข้าบริหารธุรกิจด้วยแบรนด์ รูปแบบ ระบบ และขั้นตอนของธุรกิจที่ให้อนุญาต (แฟรนไชส์ซอร์) ธุรกิจที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นเข้าร่วมทำธุรกิจด้วย (ภายใต้สัญญาการให้สิทธิ) ต้องมีแบรนด์เป็นที่รู้จักของตลาด  ประกอบธุรกิจมาสักระยะหนึ่งจนพิสูจน์แล้วว่าธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จ 

นั่นคือธุรกิจนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของประเทศ  และธุรกิจนี้จะร่วมสร้างการเติบโตของระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้นกว่าการขยายตัวของธุรกิจด้วยตนเองด้วยการให้สิทธิแฟรนไชส์ต่อผู้ที่สนใจ  เพราะธุรกิจแฟรนไชส์เป็นวิธีหนึ่งของกลยุทธ์ในการขยายตัวของธุรกิจ

เมื่อแบรนด์เป็นที่ต้องการของลูกค้า  และธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจจนประสบความสำเร็จ จึงเป็นที่สนใจและต้องการของผู้ที่มองหาธุรกิจที่จะทำให้เขาประกอบธุรกิจด้วยความมั่นใจและมีความเสี่ยงต่ำ  เมื่อธุรกิจ (แฟรนไชส์ซอร์) มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ก็เป็นการสร้างผู้ประกอบการใหม่   ยิ่งธุรกิจ (แฟรนไชส์ซอร์)ทำให้ระบบแฟรนไชส์ของตนเองประสบความสำเร็จก็จะยิ่งเป็นแรงดึงดูดให้ผู้คนเข้าร่วมเป็นแฟรนไชส์ซีมากขึ้น และนี่จึงเป็นการช่วยสร้างการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของประเทศได้

ธุรกิจแฟรนไชส์ที่เราพบเห็นในบ้านเราซึ่งเป็นแบรนด์ที่มาจากอเมริกา เช่น แมคโดนัลด์ (อายุธุรกิจแฟรนไชส์กว่า 60 ปี  โดยเปิดร้านแฟรนไชส์สาขาแรก เมื่อปี พ.ศ. 2498 (ค.ศ.​1955)) หรือ ดังกิ้นโดนัท ให้สิทธิแฟรนไชส์ในปี 1955 เช่นกัน ที่นานกว่านั้นและได้ยุติกิจการในไทยไปแล้วคือ A&W ซึ่งเริ่มกิจการในปี ค.ศ. 1919 แต่เริ่มให้สิทธิแฟรนไชส์ในปี 1926 สำหรับในประเทศไทยร้านเซเว่น อีเลฟเว่น (แม้จะรับสิทธิมาจากอเมริกา) ได้เริ่มให้สิทธิแฟรนไชส์ร้านแรกในปี พ.ศ. 2534  เป็นเวลากว่า 30 ปีมาแล้ว  เราอาจบอกได้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์จะทำให้ธุรกิจนั้น ๆ มีอายุธุรกิจที่ยืนยาว  ความยั่งยืนของธุรกิจแฟรนไชส์ย่อมเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ธุรกิจขยายตัวอย่างเป็นระบบด้วยแฟรนไชส์

ธุรกิจที่มีจุดมุ่งหมายในการขยายตัวด้วยการขยายสาขาแม้จะสร้างระบบขึ้นมารองรับการขยายตัวนั้นได้  แต่อาจมีปัญหาที่ต้องประสบคือความสัมพันธ์ตามระดับชั้น (Hierarchy of Command level) ของการจัดองค์กร  ซึ่งเป็นภาระของหน่วยงานด้านบุคคล หรือทรัพยากรมนุษย์ หรือทุนมนุษย์ขององค์กร อันจะทำให้ระบบไม่อาจทำงานได้  อีกทั้งระบบอาจมีปัญหาจากขวัญและกำลังใจ (Morale) ของพนักงานที่ตกต่ำลงด้วยเหตุใดก็ตาม แต่ถ้าสร้างมาตรฐานให้กับระบบเพื่อให้แฟรนไชส์ซีปฏิบัติตามโดยมีการดูแลที่เข้มงวดจากทีมงานที่เข้าตรวจเยี่ยมย่อมส่งผลที่ดีกว่า  เพราะผลจากการวิจัยทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นว่าร้านของแฟรนไชส์ซีมีผลการปฏิบัติงานที่ดีกว่าร้านของแฟรนไชสซอร์ (Company-owned) เอง  ไม่ว่าจะเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าจนเกิดเป็นความภักดีต่อแบรนด์ 

ซึ่งเป็นการรักษาแบรนด์ให้อยู่ในใจของลูกค้าอย่างยั่งยืน  อันมีผลต่อผลประกอบการของร้านนั้น ๆ ย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจด้วย ระบบที่ดีต้องมาจากการฝึกอบรมที่ได้มาจากการถอดกระบวนการทำงานอย่างเหมาะสมเป็นจริง  และพัฒนา ปรับปรุงจากการปฏิบัติตรั้งแล้วครั้งเล่าแล้วหาจุดที่ดีที่สุด  อีกทั้งต้องพิจารณาภาวะแวดล้อมของธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ลูกค้าด้วย  ไม่มีอะไรที่จะตายตัว อยู่นิ่ง โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง การออกตรวจเยี่ยมสาขาแฟรนไชส์ซีของทีมงานที่แฟรนไชส์ซอร์ส่งเข้าไปมีผลอย่างมากต่อความสำเร็จของระบบที่จัดทำและฝึกอบรมเป็นอย่างดีแล้ว  แบบฟอร์มที่ได้ออกแบบไว้ดีเป็นเครื่องมือที่ช่วยได้มาก

ความต้องการแรงงานย่อมเพิ่มขึ้นตามการขยายสาขาของธุรกิจนั้น ๆ  คาดว่ามีแรงงานที่อยู่ในธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศไทยราว 200,000 คน  ดังนั้นธุรกิจแฟรนไชส์ที่เข้มแข็งโดยรวมย่อมเป็นโอกาสในการสร้างงานอย่างมีคุณภาพ  และช่วยกระจายงานไม่ให้อยู่เฉพาะใน กทม. หรือตามเมืองใหญ่เท่านั้น  เพราะระบบแฟรนไชส์จะทำให้มีการขยายร้านสาขาออกสู่พื้นที่ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น การสร้างงานอย่างมีคุณภาพมาจากระบบงานที่มีมาตรฐาน การฝึกอบรม การพัฒนาฝีมือ  พนักงานก็จะเก่งขึ้นมีความสามารถมากขึ้น และเมื่อมีการกำหนดเส้นทาง ความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path)  พนักงานนั้นก็จะมีขวัญ กำลังใจในการทำงานผลของงานจึงออกมาดี พนักงานเหล่านั้นย่อมได้รับการเพิ่มคุณค่าให้กับตนเอง และจะเป็นที่ต้องการขององค์กรอื่น ๆ ด้วยเมื่อออกจากงาน 

แฟรนไชส์ที่เป็นระบบธุรกิจซึ่งประสบความสำเร็จมีความมั่นคงและยั่งยืน   นอกจากจะจูงใจให้ลูกค้าเข้าร้านมากขึ้น  และทำให้ผู้ที่มองหาธุรกิจแฟรนไชส์ต้องการเข้าร่วมโดยเป็นแฟรนไชส์ซีแล้ว  ย่อมทำให้ผู้ที่ต้องการทำงาน (ผู้สมัคร) ย่อมพิจารณาแฟรนไชส์นั้นเป็นลำดับต้น ๆ  ภาพลักษณ์ ความโดดเด่น ความแข็งแกร่ง ของธุรกิจแฟรนไชส์นั้น ๆ ย่อมทำให้เขาอยากเข้าร่วมงานด้วย และต้องการเป็นพนักงานที่อยู่ด้วยกันกับองค์กรอย่างยาวๆ

คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ความเป็นมาตรฐานของแฟรนไชส์ที่ดีย่อมทำให้ผู้บริโภคได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  สินค้าหรือบริการของธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐานย่อมทำให้ผู้บริโภค อยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีปลอดภัยมีความเสี่ยงน้อย  มีความพึงพอใจในวิถีชีวิตของตนเอง  ผู้บริโภคจึงมีสุขภาพกายสุขภาพจิตที่ดี

เพราะว่าธุรกิจแฟรนไชส์ให้ความสำคัญกับมาตรฐานของธุรกิจมากกว่าผู้ประกอบการทั่วไป  เนื่องจากการคำนึงถึงแบรนด์ที่จะช่วยสร้างลูกค้าทั้งระดับลูกค้าสุดท้าย และผู้จะขอรับสิทธิแฟรนไชส์  แฟรนไชส์จึงมีความคิดในความรับผิดชอบต่อลูกค้ามากกว่าธุรกิจทั่วไป  ธุรกิจอื่นอาจละเลยหรือไม่ใส่ใจต่อข้อร้องเรียน ร้องทุกข์ของลูกค้า  หรืออาจเพียงแค่ทำให้เหมือนใส่ใจต่อสิ่งเหล่านั้นแต่สุดท้ายก็ดึงเวลาปล่อยให้เรื่องเงียบไปเองเพราะลูกค้าหรือผู้บริโภคคร้านที่จะติดตาม หรือใช้เล่ห์หรือวาทกรรมในการปัดความรับผิดชอบ  แต่แฟรนไชส์จะใส่ใจในทุกรายละเอียดเพื่อถอดบทเรียนความผิดพลาดจะได้สร้างมาตรฐานที่ไม่ทำให้การทำงานผิดพลาดเช่นนั้นเกิดขึ้นอีก

เพื่อให้แข่งขันในตลาดได้ ในการกำหนดราคาของสินค้า หรือบริการ แฟรนไชส์ซอร์ต้องตั้งราคาที่สมเหตุสมผลในสายตาของลูกค้า  เขาไม่อาจตั้งราคาได้ตามใจตนเอง  ถ้าตั้งราคาต่ำเกินไปแฟรนไชส์ซีก็ไม่อาจอยู่รอดในธุรกิจของตน  ราคาที่สูงเกินไปลูกค้าก็จะไม่ยอมรับ ไม่ซื้อหรือไม่เข้าใช้บริการซึ่งย่อมส่งผลต่อธุรกิจ  ราคาที่กำหนดต้องเหมาะสมต่อ คุณค่าที่นำเสนอ  ภาพลักษณ์  ตำแหน่งของธุรกิจ  และการแข่งขันในตลาด

ธุรกิจแฟรนไชส์ได้สร้างทางเลือกที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้บริโภค  การแข่งขันในตลาดทำให้แฟรนไชส์ที่ต้องการอยู่รอดและเติบโตต้องเป็นธุรกิจที่แตกต่างจากธุรกิจที่มีอยู่แล้วในตลาด  อาจเป็นการแนะนำสินค้าหรือบริการใหม่ที่ยังไม่เคยมีในตลาด  หรือเป็นการปรับปรุงสิ่งที่เคยมีอยู่แล้วให้เปลี่ยนไป เช่น ในด้านของรูปลักษณ์และดียิ่งขึ้น  แม้เป็นการทำสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่ทำให้ทนทานขึ้น หรือใช้งานง่ายขึ้นผู้บริโภคย่อมต้องพอใจ  หรือมีรูปแบบการบริการที่ต่างไป

แฟรนไชส์มีผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม  มูลค่าของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีมากกว่า 300,000 ล้านบาท  มีการจ้างงานกว่า 200,000 ตำแหน่ง   แฟรนไชส์ทำให้ธุรกิจมีอายุที่ยืนยาวจากการพัฒนาระบบให้มีมาตรฐาน  จึงมีการขยายตัวได้มากขึ้น  เกิดการจ้างงาน พัฒนาฝีมือ  และมีผู้ที่ต้องการสมัครงานมากขึ้น  พนักงานอยู่กับองค์กรนานขึ้น   ผู้บริโภคและลูกค้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  แฟรนไชส์เป็นองค์กรที่รับผิดชอบต่อผู้บริโภคและลูกค้า  และทำให้มีทางเลือกที่หลากหลายในราคาที่สมเหตุสมผล

สุชาติ กิติเฉลิมเกียรติ ที่ปรึกษาสมาคม

kitichart@gmail.com

062 949 4156

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *